Sunday, February 18, 2007

web อ้างอิง









อ้างอิงจาก

พระมหากัสสปะ

พระมหากัสสปะ
ในกาลเมื่อพระศาสนาของพระปทุมุตตระพุทธเจ้า พระกัสสปเถระได้เกิดเป็นพราหมณ์สำเร็จไตรเพท และศิลปศาสตร์ของพราหมณ์ทั้งหลายอื่น ๆ ด้วย อยู่มาวันหนึ่ง พราหมณ์มานพได้เห็นพระปทุมุตตระพุทธเจ้าก็มีจิตเลื่อมใส ได้กระทำสักการบูชาด้วยสุมน บุปผาชาติดอกมะลิ จึงซัดกำดอกไม้โดยรอบ และเบื้องบนของพระบรมศาสดา ด้วยอำนาจพระบรมพุทธานุภาพ ดอกมะลิทั้งหลายก็ประดิษฐานอยู่ โดยอาการเป็นอาสนะดอกไม้ ตั้งอยู่ถึงเจ็ดวัน พราหมณ์มานพนั้น ครั้นเห็นมหัศจรรย์ก็มีจิตเลื่อมใสยิ่งขึ้น แล้วก็อุตส่าห์บำเพ็ญกองการกุศลสืบไปในเบื้องหน้า









ครั้นมาในพระพุทธกาลของพระพุทธเจ้าของเรานี้ ท่านก็ได้มาเกิดเป็นบุตรอุทิจจพราหมณ์ ผู้หนึ่งในนครสาวัตถีชื่อ กัสสปมานพ บิดากัสสปมานพกระทำกาลกิริยา เสียแต่ในกาลที่ท่านยังเป็นเด็ก ท่านได้อุตส่าห์ปฎิบัติเลี้ยงดูมารดา อยู่มาวันหนึ่ง ท่านได้ไปสู่พระเชตวันมหาวิหาร ได้สดับพระธรรมเทศนา เฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้บรรลุพระโสดาปัตติผลญาณในอาสนะอันเป็นที่นั่งนั้น เพราะเหตุว่าบริบูรณ์ด้วยเหตุสมบัติ จึงกลับมายังสำนักของมารดา ยังมารดาให้อนุญาตแล้วก็ออกบรรพชาในพระพุทธศาสนา
ในกาลเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปวารณาออกพระวัสสาแล้ว และเสด็จไปสู่ชนบทจาริกนั้น พระกัสสปเถระมีความปรารถนาจะใคร่ไปกับพระบรมศาสดา จึงไปยังสำนักของมารดาเพื่อจะอำลาบอกกล่าว ผ่ายมารดาเมื่อจะสละเสียนั้นจึงกล่าวพระคาถาให้โอวาทว่า "ในประเทศใดมีภิกขาหารอันได้ด้วยง่ายเป็นประเทศเกษม ปราศจากโรคาพยาธิและเป็นประเทศอันปราศจากภัย มีภัยเกิดแต่โจร เป็นต้น พ่อจงไปในประเทศนั้น ความโศกอันเกิดแต่ภัยมีข้าวยากหมากแพงเป็นต้น จงอย่ามาวีแววแผ้วพานเบียดเบียนแต่พ่อเลย"
พระกัสสปเถระได้ฟังคำมารดาว่าดังนั้นจึงรำพึงว่า มารดาของเรามีความปรารถนากิริยาที่เราไปในที่อันปราศจากความโศกของเรา เราควรเพื่อจะให้บรรลุ ที่อันปราศจากความทุกข์ จึงอุตส่าห์ตั้งวิปัสนากรรมฐานเมื่อไปอยู่ในอรัญประเทศไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัต เหตุการณ์ดังนั้น ท่านจึงกล่าวประกาศบุพพจริตาปทาน แสดงอภินิหารเหตุบุพพจารีตของตนในกาลก่อน ในคัมภีร์พระอปทาน มีว่า ในกาลก่อนนั้น ท่านประกอบด้วยความสรรเสริญศิลปวิชาการ ชำนาญในไตรเพท ถึงฝั่งของไตรเพททรงไว้ซึ่งเวทมนต์ ท่านได้เห็นพระพุทธเจ้าอันเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก พระนามว่าพระปทุมุตตรพุทธเจ้า ประกอบด้วยพระสิริวิลาสดุจพระยาไกรสรราชสีห์ มิฉะนั้นประดุจพระยาพยัคฆะเสือโคร่ง มิฉะนั้นประดุจพระยากุญชรชาติบังเกิดในมาตังคประเทศ ครั้นท่านได้เห็นแล้ว ก็เกิดความเลื่อมใส จึงเอาสุมนชาติ ดอกมะลิซัดไปในอากาศ กระทำสักการบูชาแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระบรมศาสดา ก็ทรงพระอธิษฐานบันดาล ให้สุมนบุปผาชาติเป็นเพดาน กางกั้นในเบื้องบน และข้างทั้งสี่มีอาการประดุจดังฝา และเป็นบุปผาอาสนะ ในกาลนั้นสุมนบุปผาชาติทั้งหลายก็บันดาลมีขั้วหันเข้ามา ณ ภายในมีกลีบและเกษรกลับออกมาภายนอก บังเกิดเป็นฝากั้นอยู่โดยรอบ แวดล้อมพระบรมศาสดาอยู่ถึงเจ็ดวัน จากนั้นก็อันตรธานสูญหายไป เมื่อท่านได้เห็นมหัศจรรย์นั้นก็ยังจิตให้เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยอำนาจผลของสุมนบุปผาชาติบูชานั้น ท่านมิได้ไปบังเกิดในทุคติภพเลยสิ้นแสนกัป ในกัปที่ ๑๕ ท่านก็ได้เกิดเป็นบรมจักรพัตราธิราช ทรงพระนามว่าจิตตอำมาตย
กาลบัดนี้กิเลสทั้งหลายท่านก็เผาเสียให้สิ้นสุดจากสันดานแล้ว พระพุทธศาสนธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านก็ได้กระทำเสร็จสิ้นทุกประการแล้ว
พระกัสสปเถระ ครั้นได้บรรลุพระอรหัตแล้ว จึงกล่าวพระคาถาโดยนัยเป็นอาทิว่า "เนื้อความถ้อยคำของมารดาของเรานี้ บังเกิดประดุจดังว่าขอแก้ว สำหรับเกี่ยวไว้เพื่อจะให้ถึงพระอรหัต
พระกัสสปเถระ เมื่อมีชนมายุครบจำนวนถ้วนกาลบริเฉท ท่านก็ดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ดับกรรมชรูปและวิบากขันธ์สิ้นเสร็จ หาเศษคือตัณหาและอุปาทานซึ่งเป็นเชื้อเหลืออยู่มิได้ ดุจเปลวประทีปอันสิ้นไส้ สิ้นน้ำมันแล้วดับไป ฉะนั้น












พระควัมปติ






ท่านพระควัมปติชิเถระ เป็นบุตรของเศรษฐีในเมืองพาราณสี เป็นสหายที่รักใคร่สนิทสนมกับท่านพระยสะ เมื่อยสกุลบุตรออกแล้ว ได้ทราบข่าวจึงคิดว่า ธรรมวินัยที่ยสกุลบุตรสหายของตนออกบวชนั้นจักไม่เป็นของเลวทราม ต้องเป็นของดีแน่นอน ควรที่เราจะเข้า ไปหาแล้วบวช บวชตามบ้าง เมื่อคิดอย่างนั้นแล้วจึงพร้อมด้วยสหาย ๓ คน ได้แก่ วมละ สุพาหุ ปุณณชิ ได้พากันไปหาท่านพระยสะ หลังจากนั้น ท่านพระยสะก็พาเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และทูลขอให้พระองค์ทรงสั่งสอน พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัส อนุปุพพิกถา และ อริยสัจ ๔ ในเวลาจบพระธรรมเทศนา ควัมปติและสหายก็ได้ธรรมจักษุ คือดวงตาคือปัญญาอันเห็นธรรมได้เกิดขึ้นว่า สิ่งใด สิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดก็มีความดับไปเป็นธรรมดา เมื่อท่านได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วจึงทูลขออุปสมบท ใน พระธรรม วินัย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา เมื่อมีอินทรีย์แก่กล้าแล้ว ได้ฟังธรรม มีกถาที่พระองค์ ตรัสสอนในภายหลัง จิตของท่านก็หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน ท่านได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ที่นับเข้าในจำพวก พระสาวกผู้ใหญ่ ในคราวที่พระพุทธเจ้าส่งสาวกออกไปประกาศพระศาสนา ท่านก็ได้รับอนุมัติให้ไปประกาศ พระศาสนาในชนบท ช่วยสั่งสอนให้กุลบุตรเกิดความเลื่อมใสได้มาก เมื่อดำรงอยู่ถึงกาลอายุขัยแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน










พระควัมปะติเถระ





สัณฐานดังใบบัวอ่อนพระควัมปะติเถระ ได้ทำอธิการกุศลในพระพุทธเจ้ามาหลายพระองค์ ได้บูชาพระสิขีพระพุทธเจ้าด้วยดอกไม้ ได้ทำเศวตฉัตร และ แท่นที่บูชาไว้ที่เจดีย์ในศาสนาพระโกนาคมน์ ได้ทำมณฑปถวายพระขีณาสพสมัยพระกัสสปะพุทธเจ้า มาถึงชาตินี้ท่านได้เกิดในแขวงกรุงพาราณสี นามว่าควัมบดี เป็นสหายของยสกุมารซึ่งได้ออกบวชจึงได้ออกบวชตาม แล้วบรรลุอรหันต์ คราวหนึ่งภิกษุถูกน้ำท่วมยามดึก พระพุทธเจ้าทรงให้ท่านไปห้ามกระแสน้ำด้วยฤทธิ์ น้ำนั้นก็หยุดอยู่แต่ไกล ด้วยเหตุนี้เขาจึงนิยมทำพระคะวัมปะติเถระเป็นพระเครื่อง เพราะถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของเมตตามหานิยมเป็นพระปิดตา และ ยังมีความหมายว่าให้สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ซ่านไปตามอารมณ์ภายนอก













พระอานนท์และพระราหุล









พระราหุลเถระ
พระราหุล เป็นพระโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะ กับพระนางยโสธรา (พิมพา) เป็นพระนัดดาของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ครองนครกบิลพัสดุ์ เมื่อพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้วเสด็จมาเทศนาโปรดพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ ประทับอยู่ที่นิโครธาราม วันหนึ่งพระองค์เสด็จไปที่พระราชนิเวศน์ของพระนางยโสธราพระราชเทวีเก่าของพระองค์ พระนางได้ส่งพระราหุลกุมาร ผู้เป็นพระโอรสออกมาทูลขอพระราชสมบัติที่ควรจะได้ราหุลกุมารออกไปเฝ้าเจรจาปราศรัยแสดงความรักใคร่มีประการต่าง ๆ ครั้นเห็นพระบรมศาสดาจะเสด็จกลับ จึงร้องทูลขอราชสมบัติพลางตามเสด็จพระบรมศาสดาทรงดำริว่า ทรัพย์สมบัติทั้งหลาย ที่จะมั่นคงถาวร และประเสริฐยิ่งกว่าอริยทรัพย์นั้นไม่มี ควรที่เราจะให้อริยทรัพย์แก่ราหุลเถิด
เมื่อพระพุทธองค์ทรงดำริอย่างนี้แล้ว จึงตรัสสั่งพระสารีบุตรว่า สารีบุตร ถ้าอย่างนั้น เธอจงให้ราหุลบวชเถิด ขณะนั้นราหุลกุมารยังเยาว์อยู่มีอายุยังไม่ครบอุปสมบท พระสารีบุตรจึงทูลถามว่า จะโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าบวชราหุลกุมารอย่างไร พระบรมศาสดาทรงปรารภเรื่องนี้ให้เป็นเหตุ จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุบวชกุลบุตรที่มีอายุยังไม่ครบอุปสมบทให้เป็นสามเณร ด้วยการให้สรณคมน์ ๓ นับได้ว่าราหุลเป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา เมื่อราหุลกุมารบวชเป็นสามเณรแล้ว ตามเสด็จพระบรมศาสดา และพระอุปัชฌาย์ของตนไป ครั้นมีอายุครบแล้วก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ
วันหนึ่งในขณะที่พระราหุลพักอยู่ ณ สวนมะม่วงแห่งหนึ่งในกรุงราชคฤห์ พระบรมศาสดาเสด็จไป ณ ที่นั้น ทรงแสดงราหุโลวาทสูตรซึ่งว่าด้วยภาชนะน้ำเปล่า บรรยายเปรียบเทียบด้วยคนพูดมุสาวาทเป็นต้น ตรัสสอนให้พระราหุลสำเหนียกตามเทศนานั้นแล้วเสด็จกลับไป ต่อมาอีก วันหนึ่งพระราหุลเข้าไปเฝ้า พระบรมศาสดาตรัสสอนด้วยมหาราหุโลวาท ซึ่งว่าด้วรรูปกรรมฐานธาตุ ๕ อย่างคือ ปฐวีธาตุ ธาตุดิน,อาโปธาตุ ธาตุน้ำ,เตโชธาตุ ธาตุไฟ, วาโยธาตุ ธาตุลม และอากาศธาตุ ช่องว่าง ให้ใช้ ปัญญาพิจารณาให้เห็นตามสภาพที่เป็นจริงว่า สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ส่วนนั้นไม่เป็นของเรา ส่วนนั้นไม่ใช่ของตัวเราเป็นต้น ในที่สุดก็ตรัสสอนในกรรมฐานอื่น ๆ ให้เจริญเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อสุภสัญญา อนิจจสัญญา ครั้นทรงสอนจบแล้วพระราหุลมีจิตยินดีในคำสอนของพระบรมศาสดา ต่อมาพระราหุลได้ฟังพระพุทโธวาทเกี่ยวกับวิปัสสนา คล้ายกับโอวาทที่ตรัสสอนภิกษุปัญจวัคคีย์ เพียงแต่ในที่นี้ยกอายตนะภายในภายนอกเป็นต้นขึ้นแสดงแทนขันธ์ ๕ ท่านส่งจิตไปตามพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุพระอรหัตตผลเป็นพระอรหันต์
พระราหุลนั้น ท่านเป็นผู้ใคร่ในการศึกษาธรรมวินัย ตามประวัติกล่าวไว้ว่า ครั้นท่านลุกขึ้นแต่เช้าก็ไปกอบทรายให้เต็มฝ่าพระหัตถ์แล้ว ตั้งความปรารถนาว่า ในเวลานี้ข้าพเจ้าพึงได้รับซึ่งโอวาทคำสอนจากสำนักของพระบรมศาสดา หรือจากสำนักของอุปัชฌาย์อาจารย์ทั้งหลายให้ได้มากประมาณเท่าเม็ดทรายในกำมือแห่งข้าพเจ้านี้ ด้วยเหตุนี้เอง พระราหุลจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ใคร่ในการศึกษา ครั้นท่านดำรงชนมายุสังขารโดยสมควรแก่กาลแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน













พระอานนทเถระ
เมื่อนับตามลำดับศากยวงศ์แล้ว ท่านก็เป็นอนุชาของพระบรมศาสดาเมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่อนุปิยนิคมแคว้นมัลละ ท่านได้ออกบวชพร้อมด้วยเจ้าศากยกุมารเหล่านี้ คือ ภัททิยะ,อนุรุทธะ,ภคุ,กิมพิละ โกลิยกุมาร อีกหนึ่งองค์ คือ เทวทัต รวมทั้งอุบาลีผู้เป็นนายภูษามาลาเป็น ๗ เมื่อพระอานนท์ได้อุปสมบทแล้ว ได้ฟังโอวาทของพระปุณณมันตานีบุตร จนได้บรรลุโสดาปัตติผล
วันหนึ่ง พระบรมศาสดาตรัสขอให้สงฆ์เลือกหาภิกษุอุปัฏฐากพระองค์เป็นประจำ เพราะเมื่อก่อนแต่กาลนี้ ภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐากของพระองค์ไม่ได้กำหนดแน่นอน คงผลัดเปลี่ยนถวายการอุปัฏฐากกันไป เวลาที่ผลัดเปลี่ยนเมื่อยังไม่มีผู้รับต่อ ต้องเสด็จอยู่เพียงลำพังพระองค์เดียวได้ความลำบาก สงฆ์จึงเลือกพระอานนท์ถวาย แต่ก่อนที่ท่านจะรับเป็นพุทธอุปัฏฐาก ก็ได้ทูลขอพร ๘ ประการ คือ ๑. อย่าประทานจีวรอันประณีตแก่ข้าพระองค์ ๒. อย่าประทานบิณฑบาตอันประณีตแก่ข้าพระองค์ ๓. อย่าโปรดให้ข้าพระองค์อยู่ในที่ประทับของพระองค์ ๔. อย่าทรงพาข้าพระองค์ไปในที่นิมนต์ ๕. จงเสด็จไปสู่ที่นิมนต์ที่ข้าพระองค์รับเขาไว้ ๖. ให้ข้าพระองค์พาบริษัทซึ่งมาเฝ้าพระองค์แต่ที่ไกลเข้าเฝ้าในขณะที่มาได้ทันที ๗. ถ้าความสงสัยของข้าพระองค์เกิดขึ้นเมื่อใด ขอให้เข้าเฝ้าทูลถามได้เมื่อนั้น ไม่ใช่ของผู้มีใจไม่มั่นคง ๘. ถ้าพระองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาเรื่องใดในที่ลับหลังข้าพระองค์ ขอพระองค์มาตรัสบอกธรรมเทศนาเรื่องนั้น แก่ข้าพระองค์
พระบรมศาสดาจึงตรัสถามว่า ดูก่อนอานนท์ เธอเห็นคุณและโทษอย่างไรจึงได้ขออย่างนี้ พระอานนท์กราบทูลว่า ถ้าข้าพระองค์จักไม่ได้พร ๔ ข้อข้างต้นก็จะมีคนพูดครหานินทาได้ว่า พระอานนท์ได้ลาภอย่างนั้น ๆ จึงบำรุงพระบรมศาสดา การบำรุงอย่างนี้จะหนักหนาอะไร ถ้าข้าพระองค์จักไม่ได้พระ ๓ ข้อเบื้องปลาย คนทั้งหลายก็จะพูดได้ว่า พระอานนท์บำรุงพระบรมศาสดาทำอะไร เพราะพระองค์ไม่ทรงอนุเคราะห์แม้ด้วยกิจเพียงเท่านี้ ถ้าข้าพระองค์จักไม่ได้พรข้อสุดท้าย จักมีผู้ถามข้าพระองค์ในที่ลับหลังพระองค์ธรรมนี้พระองค์ทรงแสดงที่ไหน ถ้าข้าพระองค์บอกไม่ได้ พวกเขาก็จะพูดติเตียนได้ว่า ท่านไม่รู้แม้แต่เรื่องเพียงเท่านี้ ท่านไม่ละพระบรมศาสดาแล้วยังเที่ยวตามเสด็จอยู่ดุจเงาตามตัวสิ้นกาลนานเพราะเหตุไร
ครั้นพระอานนท์กราบทูลคุณและโทษของพร ๘ ประการ อย่างนี้แล้วพระบรมศาสดาก็ทรงอนุญาตให้ตามที่ขอ ตั้งแต่นั้นมาพระอานนท์ก็อุปัฏฐากพระบรมศาสดาโดยเอื้อเฟื้อ และมีความจงรักภักดีในพระองค์เป็นอย่างยิ่ง แม้แต่ชีวิตก็สามารถ สละแทนพระองค์ได้ พึงเห็นตัวอย่าง เมื่อครั้งพระเจ้าอชาตศัตรูปล่อยช้างนาฬาคีรีเพื่อให้ทำอันตรายแก่พระองค์ พระอานนท์ออกยืนขวางหน้าช้างนาฬาคีรีเพื่อมิให้ทำอันตรายแก่พระองค์
เพระเหตุที่ท่านอยู่ในที่ใกล้ชิดพระบรมศาสดา ได้ฟังธรรมที่ทรงแสดงแก่ตนเอง และผู้อื่นมีสติทรงจำไว้ได้มากเอาธุระในการศึกษาเล่าเรียนสาธยายทรงจำไว้ได้มากเอาธุระในการศึกษาเล่าเรียนสาธยายทรงจำ จึงเป็นผู้ฉลาดในการแสดงธรรมมาก ดังนั้น พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องสรรเสริญว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ๕ อย่าง คือ เป็นพหูสูต,มีสติ,มีคติ,มีความเพียร, และเป็นพุทธอุปัฏฐาก และเพราะเหตุที่ท่านเป็นพหูสูต เมื่อพระบรมศาสดาปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปะทำสังคายนาพระธรรมวินัย สงฆ์ได้เลือกท่านให้เป็นผู้วิสัชนาในส่วนพระสุตตันตปิฎก และอภิธรรมปิฎก ท่านได้บรรลุพระอรหัตตผล ก่อนวันที่จะทำสังคายนา ๑ วัน คือ เมื่อท่านได้รับคำเตือนจากพระมหากัสสปเถระ ครั้นถึงเวลาเย็นก็อุตส่าห์บำเพ็ญสมณธรรม จนได้สำเร็จพระอรหัตตผลในระหว่างอิริยาบถทั้ง ๔ ซึ่งจะจัดว่าเป็นท่ายืน,เดิน,นั่ง หรือนอนท่าใดท่าหนึ่งก็ไม่ได้ เพราะอยู่ในท่าที่กำลังจะล้มตัวลงนอน
ต่อมาเมื่อท่านพิจารณาถึงอายุสังขารเห็นว่าสมควรจะนิพพานแล้วจึงไปสู่แม่น้ำโรหิณีซึ่งมีอยู่ในระหว่างศากยวงศ์ และโกลิยวงศ์ ครั้นท่านจะนิพพานได้เหาะขึ้นสู่อากาศแล้วแสดงธรรมสั่งสอนแก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ในที่สุดแห่งเทศนาได้แสดงอิทธิปาฎิหาริย์หลายอย่างแล้วตั้งสัตย์อธิษฐานว่า เมื่อนิพพานแล้วขอให้ร่างกายจงแตกออกเป็น ๒ ส่วนแล้วตกลงข้างพระญาติศากยวงศ์ส่วนหนึ่ง ข้างพระญาติโกลิยวงศ์ ส่วนหนึ่งเพื่อจะป้องกันมิให้ชนทั้ง ๒ พวกเกิดวิวาทกัน เพระเหตุแห่งอัฐิ ครั้นอธิษฐานเสร็จแล้วก็นิพพาน* ณ เบื้องบนแห่งอากาศ ท่ามกลางแม่น้ำโรหิณี สรีระร่างกายของท่านก็แตกออกเป็น ๒ ส่วน แล้วตกมายังภาคพื้น สมดังที่ท่านได้อธิษฐานไว้ทุกประการ.
* พระอานนทเถระ เมื่อพิจารณาตามประวัติแล้ว แปลกจากพระสาวกรูปอื่นโดยกิเลสนิพพานบ้าง ขันธปรินิพพานบ้าง พระสาวกรูปอื่นบรรลุ พระอรหัตและนิพพานในอิริยาบถทั้ง ๔ คือ ยืน,เดิน,นั่ง,นอน อิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่ง ส่วนท่านพระอานนท์ บรรลุพระอรหัตในระหว่าอริยาบถ ๔ ชื่อว่าต่างจากพระสาวกรูปอื่นโดยขันธปรินิพพาน





พระสารีบุตร กับ พระอัญญาโกณฑัญญะ












ประวัติ: พระสารีบุตร เอตทัคคอัครมหาสาวกผู้เลิศทางปัญญา








พระสารีบุตร ถือกำเนิดในครรภ์ของนางสารีพราหมณีในบ้านอุปติสสคาม ณ หมู่บ้านนาลกะ (นาลันทะ) ไม่ไกลกรุงราชคฤห์ เดิมชื่อ อุปติสสะ บิดาคือ วังคันตพราหมณ์ มารดาคือ สารีพรามหณี มีน้องชาย ๓ คนชื่อ อุปเสนะ (เอตทัคคมหาสาวกผู้นำความเลื่อมใสมาโดยรอบ) ,จุนทะ (พระมหาสาวกจุนทะ แต่พระส่วนใหญ่ชอบเรียกท่านว่า สามเณรจุนทะ จนติดปาก), เรวตะ (เอตทัคคมหาสาวกเลิศทางผู้อยู่ป่าเป็นวัตร), มีน้องสาว ๓ คน นามว่า จาลา, อุปจาลา และสีสุปจาลา ซึ่งต่อมาได้บวชเป็นภิกษุณีและสามารถบรรลุธรรมขั้นสูง เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด แม้สหายของท่านคือ พระโมคคัลลานะ ก็ถือกำเนิดในครรภ์ของโมคคัลลีพราหมณีในวันเดียวกัน บ้านโกลิตคาม อันไม่ไกลกรุงราชคฤห์



วัยหนุ่มตอนเป็นคฤหัสถ์




ในกรุงราชคฤห์มีงานมหรสพประจำปีบนยอดเขา ซึ่งมาณพทั้งสองก็นั่งรวมกันดูมหรสพเป็นประจำ จนกระทั่งถึงวันหนึ่ง ท่านทั้งสองเริ่มมีความเบื่อหน่ายในงานมหรสพ ด้วยต่างคิดว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่ควรดูในมหรสพเหล่านี้ เพราะคนทั้งหมด ต่างก็จะล้มหายตายจากกันไป เราควรแสวงธรรมซึ่งเป็นเครื่องหลุดพ้น ดังนี้ ขณะนั้นโกลิตะเห็นเพื่ออุปติสสะใจลอยจึงกล่าวถาม อุปติสสะจึงบอกความในใจ ที่เบื่อหน่ายต่อมหรสพและความต้องการแสวงหาธรรมอันเป็นเครื่องหลุดพ้นแล้วจึงถามกลับบ้าน ซึ่งโกลิตะก็ตอบโดยมีเนื้อความเช่นเดียวกัน เมื่อต่างคนต่างทราบความในใจแล้ว จึงชวนกันไปบวชในสำนักของสัญชัยปริพาชก พร้อมกับมาณพอีก ๕๐๐ คน เมื่อบวชแล้วท่านทั้งสองได้เรียนจบลัทธิของสัญชัยปริพาชกทั้งหมด โดยใช้เวลาเพียง ๒-๓ วันเท่านั้น เมื่อหมดความรู้ที่จะศึกษาแล้ว และยังไม่เห็นถึงธรรม ท่านจึงอำลาและแสวงหาอาจารย์ท่านอื่นๆต่อไป ซึ่งท่านทั้งสองได้ตกลงกันว่า หากใครบรรลุอมตะก่อน ผู้นั้นจงบอกแก่กัน





สมัยนั้น พระอัสสชิเถระหนึ่งในภิกษุปัญจวัคคีย์ ได้ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์แต่เช้าตรู่ อุปติสสปริพาชกทำภัตกิจแต่เช้ามืดแล้วเดินไปอารามปริพาชก ได้เห็นพระเถระจึงตั้งใจเข้าไปสอบถามคำถามต่างๆ แต่เนื่องจากพระเถระกำลังบิณฑบาตอยู่ จึงติดตามไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงสถานที่แห่งหนึ่ง จึงเข้าไปอุปัฏฐากพระเถระ เมื่อเสร็จจากภัตกิจแล้วจึงได้สนทนาธรรมกัน โดยการสนทนาธรรมในครั้งนี้ทำให้ท่านได้บรรลุธรรมขั้นโสดาบัน เมื่อสอบถามถึงสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านจึงกลับไปตามโกลิตปริพาชก เมื่อท่านได้กล่าวคาถาที่พระเถระได้มอบให้ไว้ โกลิตปริพาชกก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันเช่นเดียวกัน ท่านทั้งสองจึงนับถือพระอัสสชิเป็นอาจารย์ และไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระเวฬุวัน แต่ก่อนไป ท่านทั้งสองได้ไปชักชวนอาจารย์เก่า คือสัญชัยปริพาชก แต่อาจารย์ท่านปฏิเสธ แต่มีอันเตวาสิก ๒๕๐ คนได้ติดตามไปด้วย





เมื่อพระศาสดากำลังทรงแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางบริษัท ๔ เห็นชนเหล่านั้นแต่ไกล จึงตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ๒ คนนั้น คือโกลิตะและอุปติสสะกำลังเดินมา ทั้งสองนี้แหละจักเป็นคู่สาวกที่เลิศที่เจริญ ครั้นแล้วทรงขยายพระธรรมเทศนา เนื่องด้วยจริยาแห่งบริษัทของ ๒ สหายนั้น ในครั้งนั้นบรรดาผู้ติดตามทั้งหมดต่างได้บรรลุอรหัตผล ยกเว้นพระอัครสาวกทั้งสอง เมื่อนั้นพระศาสดาจึงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้








การบรรลุธรรม
หลังจากพระสารีบุตรเถระบวชได้ครึ่งเดือน ก็เข้าไปอาศัยอยู่ในถ้ำสุกรขาตากับพระศาสดา กรุงราชคฤห์ ขณะที่พระสารีบุตรถวายงานพัดอยู่นั้น เมื่อพระศาสดาทรงแสดงเวทนาปริคหสูตรแก่ทีฆนขปริพาชก ผู้เป็นหลานของพระสารีบุตร ท่านได้ส่งญาณไปตามกระแสพระสูตร ก็ได้บรรลุถึงที่สุดสาวกบารมีญาณ สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ในวันขึ้น ๑๕ เดือน ๓ เวลาบ่ายในเวลาต่อมา พระศาสดาจึงทรงสถาปนาพระมหาสาวก้ทั้งสองไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า สารีบุตรเป็นยอดของภิกษุสาวกของเราผู้มีปัญญามาก มหาโมคคัลลานะเป็นยอดของภิกษุสาวกของเราผู้มีฤทธิ์มาก แม้ว่าพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะจะเกิดพร้อมกัน แต่ด้วยพระสารีบุตรสำเร็จเป็นพระโสดาบันก่อน พระผู้มีพระภาคจึงถือให้พระสารีบุตรเป็นผู้พี่ของพระโมคคัลลานะนิพพานเมื่อพระสารีบุตรอาพาธ ท่านจึงทูลลาพระพุทธเจ้ากลับไปนิพพานยังบ้านเกิด ก่อนนิพพานท่านได้ทำให้โยมมารดาเปลี่ยนใจ หันมายอมรับนับถือพระพุทธศาสนา โดยแสดงธรรมแก่มารดาจนบรรลุธรรมขั้นโสดาบัน หลังจากท่านนิพพานแล้วพระจุนทะจึงนำพระธาตุของพระสารีบุตรไปถวายพระพุทธเจ้าพระสารีบุตรปรินิพพานก่อนพระพุทธเจ้าประมาณ ๖ เดือน คือ วันเพ็ญ เดือน ๑๒(ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒) เวลาใกล้รุ่ง ที่บ้านตนเอง








พระอัญญาโกณฑัญญะ





.....พระอัญญาโกณฑัญญะ
ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นบุตรคหบดีมหาศาลชาวหงสวดี วันหนึ่งเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับพวกชาวเมืองเพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านรัตตัญญู ( แปลว่า ผู้รู้ราตรีนาน หมายถึงได้บวชก่อนใครได้รู้ได้ฟังมาก) แล้วเกิดศรัทธาปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้างท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏด้วยการถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวกติดต่อกัน ๗ วัน วันสุดท้ายได้สั่งให้เปิดเรือนคลังเก็บผ้า นำผ้าเนื้อดีเลิศมาวางถวายไว้แทบยุคลบาทของพระพุทธเจ้าและถวายพระสาวกแล้วกราบทูลว่า

“ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอให้ข้าพระองค์ได้เป็นเหมือนภิกษุรูปที่พระองค์ทรงแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเมื่อ ๗ วันก่อนจากนี้ด้วยเถิด นั่นคือขอให้ได้บวชในศาสนาของพระพุทธเจ้าในอนาคตแล้วได้รู้แจ้งธรรมก่อนใครหมด

พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูความเป็นไปในอนาคตของท่านด้วยพระญาณแล้ว ทรงเห็นว่าความปรารถนาของท่านสำเร็จได้แน่จึงทรงพยากรณ์ว่า

"ในอีก ๑๐๐, ๐๐๐ กัปข้างหน้า พระพุทธเจ้าโคดมจักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เธอจักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระองค์ จักได้รู้แจ้งธรรมก่อนใคร และจักได้รับตำแหน่งเอตทัคคะด้านรัตตัญญู”

ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่น ๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ได้เป็นกำลังสำคัญในการสร้างกำแพงแก้วล้อมพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ ครั้นถึงวันประดิษฐานพระเจดีย์ ก็ได้สร้างเรือนแก้วไว้ภายในพระเจดีย์อีก จากชาตินั้น บุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่าง ๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าวิปัสสีชาติที่พบพระพุทธเจ้าวิปัสสีนั้น ท่านเกิดเป็นบุตรของกฎุมพีชาวเมืองพันธุมดี มีชื่อว่า “ มหากาล”มหากาลมีน้องชายชื่อ “ จูฬกาล” ทั้ง ๒ มีอุปนิสัยแตกต่างกัน กล่าวคือ มหากาลเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าวิปัสสี แต่จูฬกาลกลับไม่เลื่อมใส ดังนั้น ทั้ง ๒ จึงมีความเห็นขัดแย้งอยู่ตลอดเวลาเกี่ยวกับการทำบุญมหากาลได้แบ่งนาออกเป็น ๒ ส่วน โดยให้ส่วนหนึ่งเป็นสมบัติของตน และอีกส่วนหนึ่งนั้นเป็นสมบัติของจูฬกาล แล้วได้นำเอาผลิตผลที่เกิดจากนาส่วนของตนนั้นมาทำบุญ จนจวบสิ้นอายุขัย จากชาตินั้น บุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภูมิต่าง ๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันท่านมาเกิดเป็น บุตรพราหมณ์มหาศาลในหมู่บ้านพราหมณ์โทณวัตถุ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองกบิลพัสดุ์ ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนามาแต่อดีตชาติประกอบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันชาติ ที่ได้รู้แจ้งธรรมและบวชในพระพุทธศาสนาก่อนใคร พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านรัตตัญญู ดังกล่าวมาแล้วฝ่ายพระปัญจวัคคีย์ที่เหลือ คือ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะและพระอัสสชิ ซึ่งมีอดีตชาติร่วมกับพระอัญญาโกณฑัญญะ ตรงที่ตั้งจิตปรารถนาให้ได้ฟังพระพุทธเจ้าแสดงธรรมก่อนใคร และปรารถนาจะบรรลุอรหัตผลพร้อมกัน ก็ได้สิ่งที่ปรารถนาไว้คือ ได้ฟังพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมก่อนใครและได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์พร้อมกันในที่สุดวาจานุสรณ์พระอัญญาโกฑัญญะ กล่าวแสดงความรู้สึกของท่าน ไว้เป็นเครื่องเตือนใจสำหรับคนรุ่นหลังอยู่ ๒ วาระด้วยกันคือวาระแรก ท่านกล่าวเมื่อได้เห็นพระปุถุชนบางจำพวกตกอยู่ในอำนาจความคิดผิดต่าง ๆ แล้วทำไปตามแรงผลักดันของความคิดผิดนั้น ท่านระลึกได้ถึงธรรมที่เป็นข้าศึกต่อความคิดผิดและระลึกได้ว่าตัวท่านเองพ้นไปจากความคิดผิดนั้นได้แล้ว จึงกล่าวแสดงความรู้สึกเป็นคำร้อยกรอง ความว่าโลกนี้มีสิ่งที่สวยงามอยู่มาก บุคคลผู้มีความคิดเจือด้วยราคะเห็นเป็นของสายงามจะถูกย้ำยีเป็นแน่เมื่อใด พิจารณาเห็นได้ด้วยปัญญา เมื่อนั้นความคิดทั้งหลายจึงจะสงบลงได้ คล้ายสายฝนสยบฝุ่นที่ถูกลมพัดฟุ้งฉะนั้นจากนั้นท่านได้แสดงวิธีพิจารณาเห็นด้วยปัญญาไว้โดยให้เห็นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา และย้ำว่า นี้แหละคือทางแห่งความบริสุทธิ์วาระสุดท้าย ท่านกล่าวเมื่อคราวที่เห็นสัทธิวิหาริกของท่านรูปหนึ่งเกียจคร้าน มีจิตฟุ้งซ่านคบเพื่อนไม่ดี ทำตัวห่างไกลจากการบรรลุมรรคผล จึงตักเตือนด้วยความหวังดี แต่ว่าสัทธิวิหาริกรูปนั้นไม่เชื่อฟังท่าน ท่านเกิดความสลดใจจึงกล่าวแสดงความรู้สึกในเชิงตำหนิการปฏิบัติผิดสรรเสริญการปฏิบัติถูกและการอยู่ในที่สงัดว่าภิกษุผู้ฟุ้งซ่าน เหลวไหล คบแต่เพื่อนชั่วย่อมถูกคลื่น คือกิเลสซัดให้จมลงไปในห้วงน้ำคือสังสารวัฏส่วนภิกษุผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เหลวไหล สำรวมอินทรีย์มีปัญญารักษาตัวรอด คบแต่เพื่อนดี จะสามารถทำทุกข์ให้หมดสิ้นไปได้ภิกษุที่ยินดีในที่สงัด แม้จะซูบผอม เนื้อตัวสะพรั่งด้วยเส้นเอ็นใจก็ยังไม่ย่อท้อ ยังรู้จักบริโภคข้าวและน้ำแต่พอดีภิกษุดังว่ามานั้น แม้จะถูกเหลือบยุงกัดอยู่กลางป่า ก็ย่อมมีสติอดกลั้นไว้ได้ คล้ายช้างศึกอดทนต่อศัตราวุธในยุทธภูมิฉะนั้นจากนั้นท่านได้กล่าวแสดงความรู้สึกเกี่ยวกับชีวิตและความตายของท่านเองและความรู้สึกที่มีต่อพระพุทธเจ้าว่าความเป็นความตายเราไม่ยินดี เรารอแต่เวลาคล้ายลูกจ้างรอเวลางานฉะนั้นพระศาสดาเราก็รับใช้แล้ว คำสอนของพระองค์เราก็ทำตามได้แล้วภาระหนักเราก็ปลงลงได้แล้ว อีกทั้งตัณหาตัวการให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดเราก็ถอนรากถอนโคนได้แล้วประโยชน์ที่คนออกบวชต้องการเราก็ได้รับแล้ว ทำไมเราจะต้องวุ่นวายอะไรอยู่กับสัทธิวิหาริกผู้ว่ายาก












พระบรมธาตุของพระอัญญาโกณฑัญญะ










พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นบุตรพราหมณ์มหาศาลในบ้านพราหมณ์ ซึ่งไม่ห่างไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์ เดิมชื่อ "โกณทัญญะ" เมื่อเจริญวัยแล้วได้เข้าศึกษาเล่าเรียน จบไตรเพทและรู้ลักษณะมนต์ คือ ตำราทายลักษณะ ในคราวที่พระมหาบุรุษประสูติได้ ๕ วัน พระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดาได้เชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คน มาเลี้ยงโภชนาหารในพระราชพิธีทำนายพระลักษณะตามพระราชประเพณี ได้คัดเลือก พราหมณ์ ๘ คน ในจำนวนพราหมณ์ทั้งหมดนั้น ให้เป็นผู้ทำนายลักษณะของพระมหาบุรุษ ในขณะนั้น โกณฑัญญะ พราหมณ์ยังเป็นหนุ่ม ได้รับเชิญมาในงาน และท่านก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับเลือก โกณฑัญญะพราหมณ์เป็นผู้ที่มีอายุน้อยที่สุด ในบรรดาที่ได้รับการคัดเลือก ทั้งหมด พราหมณ์ทั้ง ๗ คน เมื่อตรวจดูลักษณะของพระมหาบุรุษแล้วทำนายไว้เป็น ๒ ลักษณะ ดังนี้ ๑. ถ้าอยู่ครองฆราวาสจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๒. ถ้าเสด็จออกทรงผนวชจักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกของโลกส่วนโกณฑัญญพราหมณ์นั้นมีความแน่ใจว่า พระองค์จักเสด็จออก ทรงผนวชแน่นอน จึงทำนายไว้เป็นลักษณะเดียวว่า พระองค์จักเสด็จออกทรงผนวช และจักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกของโลกแน่แท้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โกณฑัญญพราหมณ์มีความตั้งใจว่า ถ้าพระองค์เสด็จออกทรงผนวชเมื่อไร ถ้าตนเองยังมีชีวิตอยู่จะออกบวชตามเมื่อนั้น ในเวลาต่อมา เมื่อพระองค์เสด็จออกทรงผนวชแล้วและทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่ (ทุกรกิริยา คือ การกระทำที่ทำได้ยากอย่างยิ่ง หรือที่เรียกว่า การทรมานตนเอง เช่น อดอาหาร) โกณฑัญญพราหมณ์ได้ทราบข่าวนั้น จึงชักชวนพราหมณ์ ๔ คน คือ ๑. วัปปะ ๒. ภัททิยะ ๓. มหานามะ ๔. อัสสชิ เรียกว่า "ปัญจวัคคีย์" พราหมณ์ทั้ง ๕ คน ได้ติดตามพระองค์เพื่อคอยปรนนิบัติทุกเช้าค่ำ ด้วยหวังว่าถ้าพระองค์ได้บรรลุธรรมใดแล้ว จักได้เทศนาสั่งสอนตนเอง ให้บรรลุธรรมนั้นบ้างเมื่อพระองค์ ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาอย่างเต็มที่ประมาณ ๖ ปีแล้ว พระองค์ทรงสันนิษฐานว่ามิใช่หนทางแห่งการตรัสรู้ ทรงตั้ง พระทัยว่า จะทำความเพียรทางใจ จึงทรงเลิกการกระทำทุกรกิริยานั้นเสัย ส่วนปัญจวัคคีย์ซึ่งมีโกณฑัญญะเป็นหัวหน้าคิดว่า พระองค์ ทรงคลายความเพียรเวียนมาเป็นคนมักมากเสียแล้วจึงหมดความเลื่อมใส เกิดความเบื่อหน่าย พากันละทิ้งพระองค์ไปอยู่ที่ป่า อิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ทรงดำริหาคนที่จะรับพระธรรมเทศนา เป็นคนแรก อันดับแรกพระองค์ทรงระลึกถึงอาจารย์ ๒ ท่าน คือ ๑. อาฬารดาบส กาลามโคตร ๒. อุททกดาบส รามบุตรซึ่งพระองค์ได้อาศัยศึกษา ลัทธิของท่าน แต่ท่านทั้งสองได้เสียชีวิตไปก่อนแล้ว ลำดับต่อมาทรงระลึกถึงพวกปัญจวัคคีย์ ที่เคยเฝ้าปฏิบัติอุปัฏฐากพระองค์มา ครั้นทรงดำริอย่างนี้ก็เสด็จไปสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ขณะเดียวกันพวกปัญจวัคคีย์ได้เห็น พระองค์เสด็จมาแต่ไกล คิดว่า พระองค์เสด็จมาแสวงหาคนอุปัฏฐาก จึงได้ตกลงกันว่าพระสมณโคดมนี้คลายจากความเพียร มาเป็นผู้มักมากเสียแล้วเสด็จมาที่นี่ พวกเราไม่พึงไหว้ ไม่พึงลุกขึ้นต้อนรับ และอย่ารับบาตร จีวร ของพระองค์เลย จะปูอาสนะ ที่นั่งไว้เท่านั้น ถ้าพระองค์ทรงมี ความประสงค์ก็จะประทับนั่งเองครั้นเมื่อ พระองค์เสด็จเข้าไปถึงแล้ว อาศัยความเคารพที่เคยมีต่อพระองค์มาก่อน ได้บรรดาลให้ลืมกติกานัดหมาย ที่ทำกัน ไว้ทั้งหมด พากันลุกขึ้นต้อนรับและทำสามีจิกรรมดังที่เคยปฏิบัติมา แต่ก็ยังมีการแสดงกิริยากระด้างกระเดื่อง สนทนากับพระองค์ ด้วยถ้อยคำไม่เคารพ พระองค์ตรัสบอกว่าเราได้ตรัสรู้ "อมฤตธรรม" ด้วยตัวของเราเอง (อมฤตธรรม หมายถึงธรรมที่ไม่สูญหาย อยู่คู่โลกตลอดไป) ขอให้ท่านทั้งหลายจงตั้งใจฟังเถิด เราจักแสดงให้ฟัง เมื่อท่านทั้งหลาย ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรม ที่เรา สั่งสอนแล้ว อีกไม่ช้าจักได้บรรลุอมฤตธรรมนั้น พวกปัญจวัคคีย์ได้กล่าว คัดค้านถึงสองสามครั้งว่า พระองค์คลายจากความเพียรเสียแล้ว จักบรรลุอมฤตธรรมได้อย่างไร พระองค์จึงตรัสให้ระลึกถึงกาลหนหลังว่า ก่อนนี้เธอทั้งหลายได้ยินได้ฟังวาจาที่เราพูดมา เช่นนี้บ้างหรือ ไม่ พวกปัญจวัคคีย์ระลึกขึ้นได้ว่า พระวาจาเช่นนี้พระองค์ไม่เคยตรัสมาก่อนเลย จึงตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา ที่พระองค์เทศนาสั่งสอน สืบต่อไปพระองค์ ได้ตรัสปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ประกาศพระสัมมาสัมโพธิญาณแก่ปัญจวัคคีย์ ในเวลาจบลงแห่งพระธรรม เทศนา ธรรมจักษุได้เกิดขึ้นแก่โกณธัญญะ (ธรรมจักษุ หมายถึง โสดาปัตติมรรค) ว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น ทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา" ท่านที่ได้บรรลุปัตติมรรคเรียกว่าพระโสดาบัน เมื่อพระองค์ทรงทราบว่า โกณธัญญะ ได้ดวงตาเห็น ธรรมแล้ว ทรงเปล่งพระอุทานว่า "อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ" แปลว่า โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ ๆ เพราะอาศัยคำว่า อญฺญาสิ ที่แปลว่า ได้รู้แล้ว คำว่า อัญญา จึงนำหน้าท่านโกณฑัญญะว่า อัญญาโกณฑัญญะ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาเมื่อท่าน อัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมจึงได้ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ ทรงอนุญาตให้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาด้วยพระวาจาว่า "เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจง ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อถึงที่สุดทุกข์โดยชอบ" การอุปสมบทของอัญญาโกณฑัญญะก็สำเร็จด้วยพระวาจาเพียงเท่านี้ เรียกการ อุปสมบทแบบนี้ว่า "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" ซึ่งพระอัญญาโกณฑัญญะได้รับการอุปสมบทด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นองค์แรกต่อจากนั้น พระองค์ก็ทรงเทศนาให้ปัญจวัคคีย์อีก ๔ คนได้ดวงตาเห็นธรรม และได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุด้วย วิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา เช่นเดียวกัน ต่อจากนั้นพระองค์ได้เทศนาเกี่ยวกับหนทางแห่งการอบรมวิปัสนาวิมุตติ อันเป็นที่สุดแห่ง พรหมจรรย์ชื่อว่า "อานัตตลักขณสูตร" ในเวลาจบพระธรรมเทศนา ปัญจวัคคีย์ก็หลุดพ้นจากกิเลสาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปทานสำเร็จเป็น พระอรหันต์ (อุปาทาน หมายถึง ความยึดมั่นในสิ่งต่าง ๆ ด้วยอำนาจกิเลศ)พระอัญญา โกณฑัญญะได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า "เป็นยอดกว่าภิกษุทั้งหลายผู้รัตัญญู" แปลว่าผู้รู้ราตรี หมายถึง ท่านเป็นผู้เก่าแก่ ได้รับการอุปสมบทก่อนภิกษุรูปอื่นทั้งหมดในพระพุทธศาสนา เป็นผู้รอบรู้เหตุการณ์ต่าง ๆมาแต่ต้น เป็นผู้มี ประสบการณ์มากพระอัญญา โกณฑัญญะได้เป็นกำลังสำคัญในการประกาศศาสนา เมื่อถึงเวลาอันสมควรท่านได้ดับขันธปรินิพพาน ก่อนที่ พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน

Sunday, February 11, 2007

พระอุบาลีเถระ


พระอุบาลีเอตทัคคะในทางผู้ทรงพระวินัย พระอุบาลี เกิดในตระกูลช่างกัลบก ในกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อเจริญเติบโตขึ้นได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นช่างกัลบก หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ช่างภูษามาลา มีหน้าที่ตัดแต่งพระเกศาประจำราชสกุลศากยวงศ์ ซึ่งมีเจ้าชายภคุ เจ้าชายภัททิยะ เจ้าชายกิมพิละ เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายอานนท์ เป็นต้น ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงนักภักดี เสมอต้นเเสมอปลายต่อเจ้าชายทุก ๆ พระองค์ จนเป็นที่ไว้วางพระหฤทัย
ขอบวชตามเจ้าศากยะ
ในสมัยที่พระพุทธองค์ เสด็จมาโปรดพระประยูรญาติที่นครกบิลพัสดุ์ แล้วเสด็จไปประทับที่อนุปิยอัมพวัน ซึ่งเป็นแว่นแคว้นของมัลลกษัตริย์ เจ้าชายศากยะทั้ง ๕ พระองค์ที่กล่าวนามข้างต้น ได้ตัดสินพระทัยออกบวชเป็นพุทธสาวกและอุบาลีช่างกัลบกก็ขอบวชติดตามด้วย นอกจากนี้ ยังมีเจ้าชายเทวทัต แห่งโกลิยวงศ์ ร่วมเสด็จออกบวชด้วย จึงรวบรวมเป็น ๗ พระองค์ด้วยกัน
ในระหว่างทางเจ้าชายทั้ง ๖ ได้เปลื้องเครื่องประดับอันมีค่าส่งมอบให้อุบาลีช่างกัลบกที่ติดตามไปด้วย ตร้อมทั้งตรัสสั่งว่า
“ ท่านจงนำเครื่องประดับเหล่านี้ไปจำหน่ายเลี้ยงชีพเถิด ”
อุบาลี รับเครื่องประดับเหล่านั้นแล้วแยกทางกลับสู่พระนครกบิลพัสดุ์พลางคิดว่าขึ้นมาว่า “ ธรรมดาเจ้าศากยะทั้งหลายนั้นดุร้ายนักถ้าเห็นเรานำเครื่องประดับกลับไปก็จะพากันเข้าใจว่า เราทำอันตรายพระราชกุมารแล้ว นำเครื่องประดับมาก็จะลงอาญาเราจนถึงชีวิต อนึ่งเล่า เจ้าชายศากยกุมารเหล่านี้ ยังละเสียซึ่งสมบัติอันมีค่าออกบวชโดยมิมีเยื่อใย ตัวเรามีอะไรนักหนาจึงจะมารับเอาสิ่งของที่เขาทิ้งดุจก้อนเขฬะนำไปดำรงชีพได้ ”
เมื่อคิดดังนี้แล้ว จึงแก้ห่อนำเครื่องประดับทั้งหลายเหล่านั้นแขวนไว้กับต้นไม้แล้วกล่าวว่า “ ผู้ใดปรารถนาก็จงถือเอาตามความประสงค์เถิด เราอนุญาตให้แล้ว ” จากนั้นก็ออกเดินทางติดตามเจ้าชายทั้ง ๖ พระองค์ ไปทันที่อนุปิยอัมพวัน กราบทูลแจ้งความประสงค์ขอบวชด้วย
พระอุบาลี เมื่อบวชแล้ว ได้ศึกษาพระกรรมฐานจากพระผู้มีพระภาคเจ้าหลังจากนั้น ท่านมีความประสงค์จะไปบำเพ็ญสมณธรรมในป่า เพื่อหาความสงบตามลำพัง แต่เมื่อกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระองค์ไม่ทรงอนุญาต ได้มีรับสั่งแก่เธอว่า...
“ อุบาลี ถ้าเธอไปอยู่ป่าบำเพ็ญสมณธรรม ก็จะสำเร็จเพียงวิปัสสนาธุระ แต่ถ้าเธออยู่ในสำนักของตถาคต ก็จะสำเร็จธุระทั้งสอง คือทั้งวิปัสสนาธุระและคันถธุระ ( การเรียนคัมภีร์ต่าง ๆ )”
ท่านปฏิบัติตามพระพุทธดำรัสที่ตรัสแนะนำ ได้ศึกษาพระพุทธพจน์ไปพร้อมกับเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็บรรลุพระอรหัตผลในพรรษานั้น
หลังจากนั้นท่านก็เป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระศาสนา เพราะความที่ท่านอยู่ใกล้ชิดพระบรมศาสดาโดยตลอด ท่านจึงมีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ในด้านพระวินัย ท่านช่วยอบรมสั่งสอนถ่ายทอดคววามรู้ด้านพระวินัยให้แก่ศิษย์ลัทธิวิหาริกของท่านเป็นจำนวนมาก ถ้ามีอธิการณ์เกิดขึ้นแก่ภิกษุสงฆ์หรือเกี่ยวกับพระวินัยแล้ว พระพุทธองค์จะทรงมอบให้ท่านเป็นผู้วินิจฉัย
ท่านได้วินิจฉัยอธิกรณ์สำคัญ ๓ เรื่องด้วยกัน คือ เรื่องภารุกัจฉกภิกษุ เรื่องอัชชุกภิกษุ และเรื่องภิกษุณีโยมมารดาของพระกุมารกัสสปะ การวินิจฉัยของท่านเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรมเป็นที่ยกย่องสรรเสริญของพุทธบริษัท
ขอนำการตัดสินอธิกรณ์เรื่องที่ ๓ มาเล่าให้ฟังโดยสังเขปดังนี้
ตัดสินคดีภิกษุณีท้อง
สมัยหนึ่ง ลูกสาวเศรษฐีในกรุงราชคฤห์ หลังจากได้แต่งงานแล้วเข้ามาบวชโดยไม่ทราบว่าตนตั้งครรภ์ เมื่อบวชได้นานครรภ์โตขึ้นมา เป็นที่รังเกียจสงสัยของพุทธบริษัททั้งหลาย
ภิกษุณีรูปนี้ อยู่ในปกครองของพระเทวทัต เรื่องรู้ถึงพระเทวทัต พระเทวทัตให้สึกทันทีโดยมิได้ไต่สวนอะไรเลย หาว่านางภิกษุณีต้องปาราชิกขาดจากความเป็นภิกษุณีแล้ว นางภิกษุณีกราบเรียนท่านว่า นางมิได้กระทำเรื่องเลวร้ายดังกล่าวหา นางเป็นผู้บริสุทธิ์
พระเทวทัตกล่าวว่า บริสุทธิ์อะไรกัน ก็ประจักษ์พยานเห็นชัดอยู่อย่างนี้ ยังจะมีหน้ามายืนยันว่าตนบริสุทธิ์อยู่หรือ
แม้ว่า นางจะวิงวอนอย่างไร พระเทวทัตก็ไม่สนใจ สั่งให้สึกอย่างเดียว นางภิกษุณีจึงอุทธรณ์ต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงทราบก่อนแล้วว่าอะไรเป็นอะไร แต่เพื่อให้เป็นที่กระจ่างแจ้งและยอมรับโดยทั่วไป จึงทรงแต่งตั้งให้พระอุบาลีเถระเป็นวินิจฉัยอธิกรณ์
เนื่องจากเป็นเรื่องของสตรี ท่านเองก็ไม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ท่านจึงขอแรงนางวิสาขาและอนาถบิณฑิกเศรษฐี ให้ช่วยเหลือ นางวิสาขาได้ตรวจร่างกายของนางภิกษุณี ซักถามวันที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้าย วันที่ประจำเดือนหมดครั้งสุดท้าย ตลอดถึงตรวจตราดูความเปลี่ยนแปลงของร่างกายทุกอย่าง แล้วลงความเห็นว่านางภิกษุณีได้ตั้งครรภ์ก่อนออกบวชโดยที่ตนเองไม่ทราบ จึงรายงานให้พระอุบาลีเถระทราบ
พระเถระได้ใช้ความเห็นของกรรมการคฤหัสถ์นั้นเป็นฐานของการพิจาณาตัดสินอธิกรณ์ ได้วินิจฉัยว่านางภิกษุณีบริสุทธิ์ มิได้ต้องปาราชิกดังถูกล่าวหา
พระพุทธองค์ทรงทราบการวินิจฉัยของพระอุบาลีเถระ แล้วทรงประทานสาธุการว่าวินิจฉัยได้ถูกต้องแล้ว นางภิกษุณีรูปนี้จึงไม่ต้องลาสิกขาตามคำสั่งของพระเทวทัต
นางคลอดบุตรแล้ว ก็เลี้ยงดูในสำนักนางภิกษุณีชั่วระยะเวลาหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จมาพบเข้าในภายหลัง จึงทรงขอเด็กไปเลี้ยงเป็นโอรสบุญธรรมในพระราชสำนัก เด็กน้อยคนนี้มีนามว่า กุมารกัสสปะ
ต่อมากุมารกัสสปะได้ออกบวชเป็นสามเณร บรรลุพระอรหัตตั้งแต่อายุยังน้อย และได้แสดงธรรมโปรดภิกษุณีผู้เป็นมารดาให้บรรลุพระอรหัตด้วย ( ความจริงท่านกล่าวตำหนิมารดาที่ไม่สามารถละความรักบุตรได้ มัวแต่คร่ำครวญหามีเวลาปฏิบัติธรรมเป็นการให้สติแก่มารดา มารดาจึง “ ตัดใจ ” ได้ และบรรลุพระอรหัตในกาลต่อมา )
เมื่ออุปสมบทแล้ว พระกุมารกัสสปะเป็นพระเถระที่มีความสามารถในการแสดงธรรมได้วิจิตรพิสการมากได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุอื่นในทางกล่าวธรรมอันวิจิตร ได้โต้ตอบกับปายาสิราชันย์ผู้มีมิจฉาทิฐิ ( ผู้มีความเห็นผิดว่า บุญ บาป ไม่มี นรก สวรรค์ ไม่มี ) จนปายาสิยอมจำนนและสละมิจฉาทิฐินั้นหันมานับถือพระพุทธศาสนาในที่สุด
กล่าวถึงพระอุบาลีเถระ เมื่อครั้งพระมหากัสสปะรวบรวมพระอรหัตต์ ๕๐๐ รูป กระทำสังคายนาหลังพุทธปรินิพพานได้ ๓ เดือน ท่านพระอุบาลีก็ได้รับเลือกเข้าประชุม และมีบทบาทสำคัญ คือ เป็นผู้วิสัชนาพระวินัยให้ที่ประชุมสงฆ์ฟัง ทำให้การสังคายนาพระธรรมวินิจฉัยสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีดังที่ทราบกันแล้ว
ความเป็นผู้เชี่ยวชาญในพระวินัยของท่าน ได้รับยกย่องและนับถือสืบมาในวงสงฆ์ยาวนาน จนกลายเป็น “ ธรรมเนียมปฏิบัติ ” เพราะพระวินัยถือว่าเป็น “ รากแก้ว ” ของพระพุทธศาสนา เวลาจะส่งพระไปเผยแพร่พระพุทธศาสนายังต่างแดน มักจะไม่ละเลยพระเถระที่มีความเชี่ยวชาญทางพระวินัย